ท้าวทองกีบม้า มีชื่อจริงว่า มารีอา กูโยมาร์ เด ปิญญา (Maria Guyomar de Pinha) แต่มักเป็นที่รู้จักในชื่อ มารี กีมาร์ (Marie Guimar) เธอเป็นสุภาพสตรีช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ภรรยาของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ขุนนางกรีกที่ทำราชการในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติขึ้นในปี พ.ศ. 2231 เป็นปีที่สิ้นสุดรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเริ่มต้นรัชกาลพระเพทราชา ชีวิตที่รุ่งโรจน์ของ มารี กีมาร์ ดับวูบลงเมื่อเจ้าพระยาวิชเยนทร์ผู้เป็นสามี ถูกตัดสินประหารชีวิตและริบราชบาตร หลังเกิดจลาจลก่อนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเพียงไม่กี่วัน มารี กีมาร์ สิ้นเนื้อประดาตัว และถูกคุมขังในคุกหลวง ภายหลังสิ้นรัชกาลพระเจ้าเสือ ชีวิตของ มารี กีมาร์ ได้กลับมาดีขึ้นโดยลำดับ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดเกล้าให้มาดามฟอลคอนเข้ามารับราชการฝ่ายใน
ซึ่งในปัจจุบัน หนึ่งในบรรดาต้นตำรับขนมท้าวทองกีบม้า คือ ขนมไทยของ นางมะลิ ภาคาภร อายุ 80 ปี ที่ ต.เกาะเรียน อ.พระนครศรีอยุธยา ห่างจากหมู่บ้านญี่ปุ่นและโปรตุเกส ประมาณ 1 กิโลเมตร โดยคุณป้ามะลิ ถือเป็นหนึ่งในผู้สืบทอดชุมชนเครือญาติท้าวทองกีบม้า ปัจจุบันได้ตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนขนมไทย ต้นตำรับท้าวทองกีบม้า มีสมาชิกที่เป็นเครือญาติช่วยกันทำขนมทั้งหมด 12 คน ซึ่งการผลิตขนมยังยึดแบบเดิม ทองหยอดต้องหยอดด้วยมือ ที่จะสามารถกำหนดขนาดของทองหยอดได้อย่างสม่ำเสมอ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
นางมะลิ ภาคาพร ได้รับมอบปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2563-2564 จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา นับเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในวงการขนมไทยและเป็นปูชนียบุคคลทรงคุณค่าของชาวพระนครศรีอยุธยา