วิธียื่นขอรับเงินชราภาพ กองทุนประกันสังคม
การขอรับเงินคืน สามารถเดินทางไปที่สำนักงานประกันสังคมใกล้บ้าน ยกเว้นสำนักงานใหญ่ แจ้งความประสงค์กับเจ้าหน้าที่ จากนั้นจะได้รับเอกสารที่เรียกว่า สปส.2-01 เพื่อกรอกข้อมูล พร้อมนำหลักฐาน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน และสำเนา 1 ชุด รวมถึงกรณีหลักฐานการเปลี่ยนแปลง ชื่อ-นามสกุล หรืออื่นๆ
ที่สำคัญ คือ ช่องที่กรอกข้อรับเงิน ควรเป็นพร้อมเพย์ ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และบัญชีเงินฝาก จะได้รับเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย ใครที่ยังไม่มีพร้อมเพย์ รีบไปสมัครที่ธนาคารเลย เพราะถ้าจะให้ประกันสังคมโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝาก โดนหักครั้งละ 5 บาท เป็นค่าโอนทุกเดือน
จากนั้นมาถึงขั้นตอนการกดคิว รอเจ้าหน้าที่เรียกไปตรวจสอบข้อมูล ซึ่งจะแจ้งว่า เราจ่ายเงินสมทบมากี่บาท 15, 20 หรือ 35 ปี จะได้เป็นบำเหน็จ หรือบำนาญ ขึ้นกับเงินที่จ่ายสมทบ
นอกจากนี้ การขอรับเงินชราภาพ ต้องทำภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิ์รับเงินกรณีชราภาพ โดยห้ามเกินแม้แต่วันเดียว เพราะจะถูกตัดสิทธิ์รับเงินบำเหน็จ-บำนาญทันที
หากผู้ประกันตนที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 5 ปี ทายาทผู้มีสิทธิจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญรายเดือน
กรณีที่ว่าเมื่อรับเงินบำนาญประกันสังคมแล้ว จะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไปด้วยหรือไม่นั้น คำตอบคือ ได้ ผู้ประกันตนประกันสังคมสามารถรับได้ทั้ง 2 อย่าง คือ เงินชราภาพจากประกันสังคม และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากรัฐบาล
หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม ผู้ประกันตน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา หรือโทร. 1506 มีเจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
เงินชราภาพ ประกันสังคม คืออะไร?
เงินชราภาพประกันสังคม เป็นกองทุนที่เก็บเงินจากคนทำงานที่เป็นสมาชิกในระบบประกันสังคม เพื่อให้ได้รับเงินเมื่อถึงวัยเกษียณ หรือ 55 ปี ขึ้นไป โดยเงินที่เก็บสะสมนี้มาจากหักเงินเดือนทุกเดือน 5% (สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท) ระหว่าง 250 – 750 บาท แล้วแบ่งเป็น 3 ประเภท
ส่วนที่ 1: สำหรับค่ารักษาพยาบาลและเหตุฉุกเฉิน หัก 1.5% หรือประมาณ 225 บาท และไม่สามารถขอคืนได้ถ้าไม่ใช้
ส่วนที่ 2: เป็นเงินออมสำหรับชราภาพ หัก 3% หรือประมาณ 450 บาท และจะได้รับคืนเมื่อครบวัย 55 ปี
ส่วนที่ 3: สำหรับประกันว่างงาน หัก 0.5% หรือประมาณ 75 บาท ถ้าว่างงานเมื่อไหร่ สามารถใช้สิทธิ์เพื่อเป็นรายได้ระหว่างตกงานหรือกำลังหางานใหม่ หากไม่ใช้สิทธิ์ก็จะไม่ได้รับเงินคืน
ดังนั้น เงินประกันสังคมไม่เพียงแต่เป็นการประกันในเรื่องสุขภาพและอุบัติเหตุ แต่ยังเป็นวิธีการออมเงินสำหรับช่วงชราภาพ และป้องกันความเสี่ยงของการว่างงาน โดยมีระบบที่สะสมเงินให้ในระยะยาว ซึ่งจะได้รับคืนในวัยเกษียณหรือในสถานการณ์ที่เจออุบัติเหตุและปัญหาสุขภาพต่างๆ
เงินชราภาพ ประกันสังคมได้เท่าไหร่?
ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มีอายุ 55 ปี และไม่เป็นผู้ประกันตนแล้ว จะมีสิทธิ์รับเงินเกษียณอยู่ 2 รูปแบบ คือ เงินบำเหน็จ และ เงินบำนาญ
เงินบำเหน็จ จะได้รับเงินสมทบทั้งหมดที่จ่ายให้ ถ้าจ่ายน้อยกว่า 12 เดือน หรือ รับเงินสมทบของผู้ประกันตน และ นายจ้าง และ ผลประโยชน์ประจำปี ถ้าจ่ายมากกว่า 12 เดือน แต่ไม่ถึง 180 เดือน
เงินบำนาญ ถ้าจ่ายครบ 180 เดือน จะได้รับเงินรายเดือนตลอดชีวิต 20% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (คำนวณจากเพดานไม่เกิน 15,000 บาท)
ตรวจสอบสิทธิและยอดเงินสมทบชราภาพ แบบง่ายๆ
ถ้าไม่สะดวกในการเดินทางไปยังสำนักงานประกันสังคม ยังมีวิธีตรวจสอบสิทธิและยอดเงินสมทบชราภาพ ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ช่องทางหลักดังนี้
เว็บไซต์ของ สปส. www.sso.go.th
แอปพลิเคชั่น SSO Connect สามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง ระบบ iOSและ Android
ไลน์ Line Official Account ของ สปส. @ssothai
ขอบคุณมูลนิธีเพื่อผู้บริโภค